ปฏิทิน

สถิติ

free counters

แผนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ดนตรีและศิลปะการแสดงภาคอีสาน

ดนตรีและศิลปะการแสดงภาคอีสาน

ความรับรู้ของคนทั่วไปต่อภาคอีสานตั้งแต่อดีตสืบมา มักจะเป็นลักษณะทำนองว่าเป็นดินแดนที่แห้งแล้งและยากจน ความเจริญของอารยธรรมเมืองยังไม่อาจคืบคลานเข้าไปถึง และมีความรู้สึกที่แตกต่างแบ่งแยกทางเชื้อชาติประเพณีวัฒนธรรมผสมผสานอยู่ในที ซึ่งในส่วนของคนอีสานเองนั้นตั้งแต่อดีตมาต่างรู้สึกว่าตนมีความแตกต่างจากคน "ไทย" เช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากมองในมิติประวัติศาสตร์จะสามารถมองเห็นภาพสะท้อนของโลกทัศน์ดังกล่าว ดังนั้นความเป็นพรรคพวกนิยม คนอีสานในอดีตโดยเฉพาะคนในแถบชนบทนั้นจึงค่อนข้างให้ความสนใจและตระหนัก ซาบซึ้งถึงความเป็นตนเองอยู่สูง ซึ่งในบรรดาสื่อที่จะรวมคนอีสานให้เป็นกลุ่มก้อนได้นั้นนอกจากภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีแล้ว ดนตรีและศิลปะการแสดงต่างๆยังเป็นสื่อกลางสำคัญในการเชื่อมร้อยเรียงคนอีสานให้เป็นหนึ่งเดียว เกิดความรักและสำนึกในพวกพ้องถิ่นกำเนิดอย่างมาก

ลักษณะของดนตรีและศิลปะการแสดงอีสาน
ลักษณะพิเศษของดนตรีและศิลปะการแสดงของคนอีสานมีความเป็นเอกลักษณ์ของตนเองทั้งความหลากหลายของเครื่องดนตรี ท่วงทำนอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะให้ความสนุกสนานจังหวะที่เร้าใจอันแย้งกับความแห้งแล้งของสภาพแวดล้อม ความทุกข์ยากลำบากของคนอีสานไม่ได้เป็นตัวกั้นกางความคิดสร้างสรรค์ที่จะประดิษฐ์คิดค้นเครื่องดนตรี การละเล่นต่างๆออกมา แต่กลับช่วยผลิตผลงานที่มีคุณค่าในตนเองอออกมาอย่างวิจิตร เสียงดนตรีที่สะท้อนออกมาช่วยบ่งบอกลักษณธอุปนิสัยของคนอีสานออกมาส่วนหนึ่ง ซึ่งในปัจจุบันนี้ลักษณะของศิลปการแสดงพื้นบ้านอีสานซึ่งเป็นที่ทราบกันส่วนใหญ่มักจะเป็นในลักษณะการขับร้องหรือศิลปะการใช้เสียงประกอบการแสดง ดังเช่นการแสดงหมอลำประเภทต่างๆ เช่น หมอลำหมู่ หมอลำเพลิน เป็นต้น ซึ่งนอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ยังมีการแสดงอีกประเภทหนึ่งที่เรียกว่า การฟ้อน ซึ่งการฟ้อนของชาวอีสานนั้น เป็นการคิดประดิษฐ์ขึ้นจากท่าทางลีลาต่างๆ ซึ่งมาจากท่าที่มีมาแต่ดั้งเดิม หรือเลียนแบบจากอากัปกิริยาของร่างกายต่างๆตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งจากคน สัตว์ หรือจากจินตนาการ โดยพยายามคิดดัดแปลงให้มีลีลาอ่อนช้อยสวยงาม เช่น ท่ายูงลำแพน ท่าสาวปะแป้ง ท่าลำเพลิน ท่าหงส์บินเวิน เป็นอาทิ
การนำอาการของสิ่งต่างๆดังกล่าวนี้มาประยุกต์ใช้ ชาวอีสานเรียกว่า การฟ้อน ซึ่งการฟ้อนนั้นในอดีตดั้งเดิมนั้นจะเป็นการนำไปประกอบการเซิ้งต่างๆ โดยจะมีบทขับเรียกว่า กาพย์เซิ้ง เช่น เซิ้งบั้งไฟ เซิ้งนางแมว เซิ้งนางด้ง เป็นต้น ครั้นต่อมาจึงได้มีการนำเอาดนตรีเข้าไปประกอบในการฟ้อนด้วย และได้มีการประดิษฐ์ท่าฟ้อนจากท่าพื้นบ้านให้สวยงามมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องในท่วงทำนองและจังหวะของดนตรีที่นำมาประกอบ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่าการฟ้อนประกอบดนตรีของอีสานมีอยู่หลายชุด เช่น ฟ้อนแพรวา ฟ้อนภูไท 3 เผ่า ฟ้อนบายศรี เป็นต้น
สำหรับดนตรีพื้นบ้านอีสานนั้นส่วนใหญ่เกิดจากประสบการณ์ในกิจวัตรความเป็นอยู่ในวิถีชีวิตประจำวัน อันเกิดจากการประกอบอาชีพประจำฤดูกาลต่างๆ เช่น การจับสัตว์น้ำ สัตว์บก การทำไร่ไถนา หรือสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับประเพณีพิธีกรรมและความเชื่อ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนานเพลิดเพลินอันเกิดจากอุปนิสัยใจคอท่ามกลางวิถีชีวิตของสังคมอีสานทั้งนี้ในส่วนของลักษณะของดนตรีพื้นบ้านอีสานจะมีความแตกต่างกันไปตามกลุ่มวัฒนธรรมของท้องถิ่นนั้นๆ กล่าวคือ กลุ่มวัฒนธรรมไทย - ลาว(อีสานเหนือ) และกลุ่มวัฒนธรรมไทย - เขมร(อีสานใต้) ซึ่งจะมีความแตกต่างทางด้านสุ้มเสียง สำเนียงดนตรีตลอดจนรูปแบบ ซึ่งจะมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะแตกต่างกันไป เช่น ทำนอง ทางอีสานเหนือจะเรียกว่า ลายเพลง ส่วนทางอีสานใต้จะเรียกว่า บอดเพลง เป็นต้น

การแบ่งประเภทของกลุ่มวัฒนธรรมอีสาน
เนื่องจากภาคอีสานมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล จึงมีความหลากหลายในส่วนของภาษาและวัฒนธรรมของประชาชน โดยอาจจะสามารถแยกพิจารณาออกตามกลุ่มวัฒนธรรมของกลุ่มคนต่างๆ ซึ่งมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
1. กลุ่มวัฒนธรรมอีสานเหนือ เป็นกลุ่มที่ใช้ภาษาที่เรียกว่า ไทย - ลาว เป็นส่วนใหญ่ แต่จะมีคนกลุ่มน้อยเท่านั้นที่ใช้ภาษาเฉพาะท้องถิ่นท้องของตน เช่น กลุ่มคนภูไท แสก ย้อโส้ และโย้ย ทั้งนี้กลุ่มอีสานเหนือได้แก่พื้นที่ซึ่งอยู่ในแถบ แอ่งสกลนคร อันประกอบไปด้วย 15 จังหวัด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดสกลนคร จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดเลย จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดยโสธร จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ
2. กลุ่มวัฒนธรรมอีสานใต้ คือกลุ่มที่อยู่ในบริเวณของพื้นที่ที่ราบตอนใต้ที่เรียกว่า แอ่งโคราช ได้แก่กลุ่มคนที่อยู่แถบ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดศรีษะเกษ กลุ่มวัฒนธรรมนี้จะใช้ภาษาที่เรียกว่า ไทย - เขมร เป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นจังหวัดเดียวคือจังหวัดนครราชสีมา ที่ใช้ภาษาไทย - โคราช
จากการที่เราได้แบ่งกลุ่มของวัฒนธรรมอีสานออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆตามลักษณะสภาพทางภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ภาษา ข้างต้นนั้น ดังนั้นจึงอาจแบ่งประเภทของศิลปะการแสดงและดนตรีของอีสานออกเป็น 2 กลุ่มตามที่กล่าวมาคือ ศิลปการแสดงและดนตรีอีสานของกลุ่มวัฒนธรรมอีสานเหนือ และศิลปการแสดงและดนตรีอีสานของกลุ่มวัฒนธรรมอีสานใต้
1. ลักษณะของศิลปการแสดงและดนตรีพื้นบ้านอีสานเหนือ กลุ่มแถบอีสานเหนือได้มีการสืบทอดวัฒนธรรมทางศิลปะการแสดงและดนตรีจากกลุ่มวัฒนธรรม 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มวัฒนธรรมหมอลำหมอแคน เป็นกลุ่มที่ใช้แคนเป่าประกอบการลำและการละเล่นพื้นบ้านอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะเน้นให้เห็นถึงความสำคัญของลำแคน และวัฒนธรรมกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีอยู่ทั่วไปในชนกลุ่มที่ใช้ภาษาถิ่นอีสาน แถบจังหวัด ขอนแก่น ชัยภูมิ มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด หนองคาย อุดรธานี และอำนาจเจริญ และกลุ่มวัฒนธรรมภูไทวัฒนธรรมลำปี่แคน ซึ่งเป็นกลุ่มของคนกลุ่มน้อยที่มีวัฒนธรรมเฉพาะตัวพิเศษแตกต่างไปจากกลุ่มใหญ่ในแถบอีสานเหนือ เนื่องจากได้มีภาษาพูดเป็นภาษาที่ใช้เฉพาะกลุ่ม วัฒนธรรมทางด้านการแสดงมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เช่น บางส่วนแถบจังหวัด กาฬสินธุ์ นครพนม สกลนคร และบางจังหวัดที่มีคนกลุ่มเหล่านี้อาศัยอยู่ เช่นชาวแสก ชางย้อ ชาวโส้ และชาวโย้ย เป็นต้น
1.1 เครื่องดนตรีในกลุ่มอีสานเหนือสำหรับเครื่องดนตรีของกลุ่มอีสานเหนือแบ่งออกเป็น 4 ประเภทตามลักษณะของหน้าที่และจุดประสงค์การใช้ คือ เครื่องดีด เครื่องสี เครื่องตี และเครื่องเป่า เครื่องดีด ประกอบไปด้วย- พิณ บางแห่งเรียกว่า ซุง เชื่อว่ามีรากฐานมาจากคำเดียวกับคำว่า ซึง ในภาษาเหนือ ชาวภูไทเรียก พิณ หรือ กระจับปี่ พิณอาจมี 2 สาย 3 สาย 4 สาย ซึ่งการเล่นพิณนั้นสามารถใช้เล่นทั้งดีดเดียว หรือดีดประกอบลำเพลิน หรือดีดเข้าวงกับแคน ซอหรือโปงลาง- หุน หึน หรือหืน เป็นเครื่องดีดที่ทำด้วยไม้ไผ่ เวลาดีดจะสอดเข้าไปไว้ในปากคล้ายกับคาบไว้ กระพุ่งแก้มจะทำหน้าที่เป็นเครื่องขยายเสียงของหุน หุนโดยปกติจะทำทำนองได้ 2-3 เสียงเท่านั้น ลักษณะของหุนจะมีความยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร หนา 0.5 เซนติเมตร และกว้างประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร บริเวณตรงกลางจะเจาะเป็นร่องเพื่อใช้เป็นลิ้นในตัว โดยจะใช้ปลายด้านหนึ่งเป็นที่จับและอีกปลายด้านหนึ่งเป็นที่ดีด
เครื่องสี มีเพียงหนึ่งอย่าง คือ ซอซอ เป็นเครื่องดนตรีที่ใช้คันชักสีที่ตัวกะโหลกซอ เพื่อทำให้เกิดเสียง ซออีสานมีเรียกกันหลายชนิดขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ในการทำกะโหลกซอ เช่น หากใช้กะลามะพร้าวทำกะโหลกซอจะเรียกว่า ซอกะโป๋ หากใช้กระป๋องหรือปี๊บมาทำจะเรียกว่าซอกระป๋องหรือซอปี๊บ บางครั้งอาจใช้ไม้ไผ่ทำ โดยขึงสาย 2 สายและใส่คันชักที่สายซึ่งจะเรียกว่าซอไม้ไผ่เครื่องตี โดยจะประกอบไปด้วย- โปงลาง มีลักษณะเป็นท่อนไม้กลมทำจากไม้มะหาด ไม้หมากหมี่ ไม้หมากเหลือม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5-8 เซนติเมตร ถากตรงกลางทั้ง 2 เป็นด้านเพื่อปรับระดับเสียง โปงลางมี 12-13 ลูกสามารถทำให้เกิดเสียงในระบบ 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา ลูกโปงลางแต่ละลูกจมีความยาวลดหลั่นกันผูกรวมกันด้วยเชือก โดยเจาะรูทั้ง 2 ด้าน แล้วร้อยเชือกผ่านรวมกันเป็นผืนเวลาตีจะใช้แขวนไว้โยงกับเสาโดยเรียงจากลูกใหญ่สุดไว้ข้างบนถึงเล็กสุดไว้ข้างล่าง- กลองเส็ง เป็นกลองประเภทขึงหนัง 2 หน้า มีชื่อเรียกหลายซื่อ เช่น กลองเส็ง กลองอิ่ง กลองแต้กลองชนิดนี้มีขนาดต่างๆ กันจาก 50- 150 เซนติเมตร- กลองตึ่ง เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว หุน่กลองทำด้วยไม้ทรงกลม ข้างในกลอวง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 50-55 เซนติเมตร มีความหนาประมาณ 30-40 เซนติเมตร ใช้สำหรับลงจังหวะหนัก- กลองยาวอีสาน เป็นกลองขึงหนังหน้าเดียว หน้ากลองขึงด้วยหนังวัว หรือหนังควาย หุ่นกลองทำด้วยไม้ขนุน ขุดเป็นโพลงกลวงข้างใน ใช้ตีเข้ากับขบวนแห่ หรือเอาไปบรรเลงร่วมกับกลองตึ่ง- หมากกับแก๊บ หรือ กรับหมู่ เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะทำจากไม้เนื้อแข็ง เวลาตีใช้ฟาดลงบนฝ่ามือ- ผางฮาด คือ ฆ้องโหม่งโบราณที่ไม่มีปุ่ม แต่หน้าจะราบเรียบเสมอกันหมด- สิ่งและแส่ง หรือ ฉิ่ง และฉาบนั่นเอง ใช้ตีในการประกอบจังหวะเครื่องเป่า ประกอบไปด้วย- แคน เป็นเครื่องเป่าที่นิยมกันมากและยังถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน ทำมาจากไม้ไผ่รวก หรือไผ่เฮี้ย ชื่อของแคน เรียกกันตามจำนวนลูกแคน เช่น แคน 6 มี 6คู่ แคน 7 มี 7 คู่ แคน 8 มี 8คู่ แคน 9 มี 9 คู่ ทั้งนี้คนอีสานยังมีความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นมาของแคนว่าเชื่อคำว่าแคนน่าจะมาจากเสียงที่ดังออกมา บ้างว่าคงจะมาจากการเรียกเต้าแคน ซึ่งทำจากไม้แคน หรือไม้ตะเคียน บ้างว่าผู้ที่คิดค้นแคนขึ้นมาคือแม่หม้าย ดังนั้นเสียงที่ได้จึงโหยหวน ไพเราะอ่อนหวาน ออดอ้อนเหมือนผู้หญิงที่อยู่ตัวคนเดียวไร้คู่เคียงคู่ทำนองนั้น บ้างได้ผูกนิยายเป็นเรื่องราวว่า นานมาแล้วมีพระราชาพระองค์หนึ่งได้เสด็จเข้าป่ามาพร้อมด้วยข้าราชบริพารเพื่อจะได้ล่าสัตว์ วันหนึ่งเมื่อบรรทมได้สุบินว่ามีของสิ่งหนึ่งได้ตกลงมาจากฟากฟ้ามาอยู่ที่เฉพาะพระพักตร์ แต่ไม่ทราบว่าสิ่งของที่ปรากฏนั้นเรียกว่าอะไร ครั้นพอตื่นบรรทมจึงได้ยินเสียงหนึ่งทำนองไพเราแว่วดังมาจากในป่า จึงเสด็จพร้อมข้าราชบริพารตามเสียงดังกล่าวไป จนกระทั่งเข้าใกล้เสียงไปมาก และมาหยุดที่น้ำตกแห่งหนึ่ง ที่มีลักษณะเจ็ดชั้น จึงทราบว่าเสียงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากเสียงน้ำที่ไหลลงมาต่างระดับกัน เมื่อกระทบกับโตรกธารหินจึงเกิดเสียงแตกต่างกัน ด้วยความซาบซึ้งในเสียงดังกล่าวจึงได้คิดประดิษฐ์เครื่องดนตรีเลียนแบบเสียงน้ำตกขึ้น จนกลายเป็นแคนในปัจจุบัน - โหวด เป็นเครื่องเป่าที่ทำด้วยลูกแคน แต่ไม่มีลิ้น โดยตัดให้ลำของลูกแคนยาวต่างระดับกันเพื่อก่อให้เกิดเป็นเสียง ตามที่ต้องการหากจะพิจารณาตามเกณฑ์ของจังหวะหรือเสียงมาตรฐานสากลได้ 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา โดยโหวดจะใช้เป่าในแนวทำนองหวาน เยือกเย็น โหยหวน มีเสียงสดใสใช้ทำทำนองได้ชัดเจน- ปี่กู่แคน หรือปี่ผู้ไท เป็นเครื่องเป่าที่ทำจากไม้ไผ่เฮี้ยไผ่รวกเช่นเดียวกันกับ แคนน และโหวด มีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตร เป็นปี่ลิ้นเดียว เลาแคนเจาะรูนับเสียง 5 รู
1.2 ลักษณะการผสมวงของดนตรีอีสานเหนือเครื่องดนตรีที่กล่าวข้างต้น นอกจากจะสามารถนำมาแสดงเดี่ยวแล้ว ปัจจุบันจากพัฒนาการและความนิยมสนใจของผู้เกี่ยวข้องจึงสามารถที่จะนำมารวมวงประกอบกับเครื่องดนตรีอื่นๆเพื่อให้เกิดท่วงทำนองจังหวะที่หลากหลาย โดยจะเรียกว่าการแบ่งดังกล่าวว่าการแบ่งวง ทั้งนี้ถือตามเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ในการเล่นที่มีความเด่นและถูกเน้นมากที่สุด คือ- วงโปงลาง ประกอบไปด้วย เครื่องดนตรีอีสานพื้นบ้านที่มีโปงลางเป็นหลักโดยจะมีโปงลางสักกี่ผืนก็ได้ นอกจากนี้ยังเสริมด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดอื่นตามสมควร เช่น แคน พิณ ซอ ฉิ่ง และกลอง วงโปงลางนิยมใช้บรรเลงตามงานรื่นเริงต่าง ๆ - วงแคน เป็นวงที่ประกอบไปด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านที่มีแคนเป็นหลัก ซึ่งจะมีกี่เต้าก็ได้ นอกจากนี้ยังเสริมด้วยเครื่งคนตรีชนิดอื่นอีกตามความเหมาะสม เช่น พิณ ซอ ฉิ่ง และกลอง- วงพิณ ประกอบด้วยเครื่องดนตรีพื้นบ้านมีพิณเป็นหลัก จะมีจำนวนสักกี่ตัวก็ได้ซึ่งนอกจากนี้ในวงพิณก็ยังเสริมด้วยตรีอีสานชนินอ่นๆ อีกด้วยเช่นกัน- วงกลองยาว เป็นวงดนตรีที่ประกอบไปด้วยกลองยาวอีสานเป็นหลัก ซึ่งแต่ละวงนั้นจะมีกลองยาวประมาณ 3 ใบขึ้นไป และมีกลองตึ้ง 1-2 ใบ ฉาบอีก 1 คู่ วงนี้ใช้ตีเป็นทำนองและจังหวะแบบอีสานทั้งจังหวะช้าและจังหวะเร็ว วงกลองยาวอีสานนี้นิยมใช้ในงานบุญและมงคลที่เป็นงานรื่นเริงต่างๆ นิยมใช้ในการประกอบขบวนแห่ของชาวอีสานในเทศกาลต่างๆ - วงมโหรีอีสาน เป็นวงดนตรีอีสานที่มีเครื่องดนตรีครบทั้งเครื่องดีด สี ตี เป่า เช่น หุน ซอ ฉิ่งฉาบ ปี่ กลอง และมีเครื่องดนตรีบางส่วนเป็นเครื่องดนตรีขอวงมโหรีภาคกลาง
1.3 ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานเหนือศิลปการแสดงพื้นบ้านของอีสานเหนือส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปทางการร้องลำระบำรำฟ้อนเป็นหลักซึ่งมีมากมายหลายชุดหลายแบบ โดยจะกล่าวถึงเฉพาะที่มีความสำคัญ และเป็นที่นิยมละเล่นและแสดงมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งที่มีมาแต่ดั้งเดิมและที่มีการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ในภายหลัง และที่จะนำมากล่าวถึงมีดังนี้ - การร้องสรภัญญะ สรภัญญะแต่เดิมเป็นการสวดในพุทธศาสนา ซึ่งชาวบ้านนำมาขับร้องในรูปแบบของการขับลำนำ ในพิธีต่างๆ เช่น พิธีไหว้ครู งานทอดเทียนถวายเทียนพรรษา เป็นต้น ซึ่งการร้องสรภัญญะ โดยจะร้องรวมกันเป็นหมู่คณะ โดยบทที่นำมาร้องส่วนมากจะเกี่ยวพุทธประวัติและชาดกต่างๆ - การเซิ้งบั้งไฟ การแสดงชุดนี้จะใช้แสดงในงานเทศกาลบุญเดือน 6 หรือที่เรียกกันว่า บุญบั้งไฟ โดยบทร้องจะร้องเป็นกาพย์อีสาน ประกอบประกอบกับดนตรี คือกลองยาวซึ่งจะใช้ประกอบในขบวนแห่บั้งไฟ โดยจะมีการฟ้อนประกอบซึ่งจะมีท่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกันออกไป ซึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังและจัดเป็นประจำทุกๆ ปี คือที่ จังหวัดยโสธร และที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด- การฟ้อนบายศรี เป็นการฟ้อนที่ใช้ประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นประเพณีของชาวอีสานที่จัดทำขึ้นเพื่อให้เกิดความเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตในโอกาสต่างๆ หรือเพื่อต้อนรับแขกผู้ที่มาเยือน การแสดงชุดนี้จะใชผู้แสดงทั้งหมดเป็นหญิงล้วน โดยจะฟ้อนประกอบกับคำร้องเป็นภาษาอีสานซึ่งประพันธ์ขึ้นเพื่อการฟ้อนบายศรีโดยเฉพาะ และวงดนตรีอีสานประกอบการบรรเลง- ฟ้อนภูไท 3 เผ่า เป็นการฟ้อนของชาวไทยกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตนเองว่า ผู้ไท ซึ่งอาศัยอยู่แถบ กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม ซึ่งจะมีลีลาการฟ้อนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาว ผู้ไท โดยจะเป็นการรวมการฟ้อนของลีลาอันมีความโดดเด่นของภูไท 3 เผ่าด้วยกันคือ ภูไทกาฬสินธุ์ ภูไทสกลนคร และภูไทนครพนม จุดประสงค์เริ่มต้นของการแสดงชุดนี้ เพื่อบูชาพระธาตุเชิงชุม ที่จังหวัดสกลนคร โดยเครื่องดนตรีบรรเลงประกอบการแสดงชุดนี้คือ ดนตรีพื้นบ้านอีสานโดยเน้นดนตรีภูไทเป็นหลัก เช่น กลองเส็ง ผางฮาด หมากกับแก๊บ ฉาบ เป็นต้น ส่วนผู้แสดงจะใช้ผู้หญิงล้วนในการแสดง- เต้ยหัวโนนตาล การแสดงชุดนี้เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความสนุกสนานเป็นหลัก ซึ่งจะใช้ดนตรีพื้นบ้านอีสานในการบรรเลงประกอบกัการร้องลำเต้ยในทำนองเต้ยเกี้ยว ซึ่งมีเนื้อหาในทำนองการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างหนุ่มสาว ผู้แสดงจะใช้ผู้ชายคู่กับผู้หญิงประมาณ 4 คู่ขึ้นไป- การฟ้อนตังหวาย เป็นการฟ้อนประกอบทำนองลำตังหวาย ซึ่งใช้ลำเพื่อบวงสรวงบูชา ของชาวบ้านแถบอีสานเหนือ ทำนองมีความไพเราะเร้าใจ ลีลาการฟ้อนอ่อนช้อยงดงาม ปัจจุบันนิยมนำมาลำเพื่อเป็นการอวยพร และอำลาจาก ผู้แสดงนั้นจะใช้ผู้แสดงทั้งหมดเป็นหญิงล้วน- ระบำจำปาศรี เป็นระบำที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่โดยอาศัยข้อมูลทางโบราณคดี ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระธาตุนาดูน และอาณาจักรจำปาศรีซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณสมัยทวารวดี ที่มีอยู่ในเขตจังหวัดมหาสารคาม โดยท่ารำจะผสมผสานท่ารำพื้นบ้าเข้ากับชุดระบำโบราณคดี และใช้บทเพลงมโหรีอีสานซึ่งไม่มีเนื้อร้องเป็นเพลงที่ใช้ในการบรรเลง สำหรับผู้แสดงทั้งหมดจะใช้เป็นผู้หญิงล้วน- การแสดงหมอลำ เป็นศิลปการแสดงรู้จักกันทั่วไป โดยต้องใช้ทักษะความสามารถหลายด้านทั้งทางด้าน ภาษา น้ำเสียง ลีลาการฟ้อน บุคลิกภาพ ไหวพริบและความสามารถทางด้านดนตรี ที่ต้องเข้าใจ

องค์ประกอบของการแสดง

ตลอดจนทักษะและความชำนาญในด้านต่างๆ ซึ่งการแสดงหมอลำนั้นสามารถแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทด้วยกันคือ1. หมอลำพื้น เป็นการแสดงที่เป็นการลำที่ใช้ทำนองลำบรรยายเรื่องราวด้วยผู้แสดงเพียงคนเดียว ซึ่งนำเอาวรรณกรรมของอีสานจากเรื่องในชาดกในพุทธศาสนาที่ได้จากหนังสือผูก มาลำบรรยายตามเนื้อเรื่ง โดยทำนองที่นิยมลำมี 3 ทำนองคือ ทำนองลำทางสั้น ทำนองลำเดิน และทำนองลำทางยาว ดนตรีทีใช้ประกอบในการบรรยายคือ แคนใช้เป่าในลายใหญ่ สำหรบเรื่องซึ่งเป็นนิยมลำกันคือ เรื่อง ท้าวการะเกด จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน ผาแดง-นางไอ่ สินชัย เป็นต้น2. หมอลำกลอน เป็นการลำเป็นบทกลอนโดยจะลำกันเป็นคู่ 2 คนโต้ตอบกันไปมา เรียกว่า ลำแก้โจทย์ เป็นการแสดงที่แสดงถึงการเกี้ยวพาราสีระหว่าหนุ่มสาว ดนตรีที่ใช้ประกอบหมอลำกลอนคือ แคน ซึ่งทำนองหลายลาย เช่น ลายสุดสะแนน ลายโป้ซ้าย ลายเดิน เป็นต้น ปัจจุบันหมอลำกลอนได้มีวิวัฒนาการไปเป็นหมอลอีกแขนงหนึ่ง เรียกว่า หมอลำกลอนซิ่ง หรือ หมอลำซิ่ง ซึ่งเป็นการประยุกต์นำเอาเครื่องดนตรีสมัยใหม่เข้าไปประกอบในการบรรเลงเช่น กลองชุด กีต้าร์ไฟฟ้าเป็นต้น ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน3. หมอลำหมู่ เป็นการลำเป็นหมู่คณะ มีผู้แสดงครบตามบทบาทในเรื่อง เช่น พระเอก นางเอก พระรอง นางรอง ตัวตลก ผู้ร้ายตัวประกอบ การลำนิยมลำเป็นเรื่องราวสะท้อนให้เห็นถึงสภาพวิถีของมนุษย์ในรูปแบบต่าง โดยส่วนใหญ่เน้นสาระที่สำคัญ ได้แก่ เรื่องราวที่เกี่ยวกับนิทานชาดก ตำนาน วรรณคดีอีสานเรื่องต่างๆ การแสดงหมอลำหมู่เป็นการแสดงศิลปการแสดงที่สมบูรณ์แบบที่สุดมีการผสมผสานการแสดงแบบอื่นไว้ในหมอลำหมู่ด้วยดนตรีที่ใช้ประกอบหมอลำหมู่แต่เดิมจะใช้เครื่องดนตรีคือแคน แต่ต่อมาเมื่อรูปของการลำเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม จึงได้มีการเพิ่มผู้แสดงมีการแต่งกายประดับประดาหรูหรามากขึ้นทั้ง เวที ฉาก แสง สี เสียง ประกอบเวทีที่อลังการตระการตามากขึ้น จึงมีการปรับปรุงรูปแบบของดนตรีจากแคนอย่างเดียวเพิ่มเครื่งดนตรีสากลสมัยใหม่เข้าไปอีกหลายชิ้น เช่น กลองชุด อิเล็กโทน กีต้าร์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ดนตรีสมัยใหม่อีกมากมายข้าเข้าไปประกอบและเมื่อเพลงลูกทุ่งได้รับความนิยมมากขึ้น จึงเอามาบรรเลงก่อนการแสดงมีการเต้นประกอบของหางเครื่อง ในปัจจุบันการแสดงของหมอลำหมู่จะแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงแรกการโหมโรม ก่อนการลำที่เรียกว่า เต้นโชว์ หรือ โชว์วง และช่วง 2 คือการลำเรื่องต่อกลอน3. การแสดงหมอลำเพลิน เป็นแสดงที่เน้นไปในทางสนุกสนานครื้นเครง โดยพัฒนารูปแบบมาจากหมอลำหมู่ มีการแสดงเป็นเรื่องราวพื้นบ้านเช่นกัน การแสดงนั้นก็พัฒนารูปแบบมาจากหมอลำหมู่แต่ปรัปรุงเครื่องแต่งกายเป็นแนวทันสมัยมากขึ้น เช่นนุ่งกระโปรงสั้น บางจึงเรียกหมอลำชนิดนี้ว่า หมอลำกกขาขาว มีท่าทางการร้องลำและฟ้อนในจังหวะที่รวดเร็วเร้าใจที่เรียกว่าจังหวะลำเพลิน นิยมหมุนพลิกแพลงท่าทางเต้นและแสดงท่าทางการฟ้อนที่ละเอียดอ่อนและวิจิตบรรจง4. หมอลำผีฟ้า การแสดงชนิดนี้มิได้มุ่งแสดงเพื่อความบันเทิง แต่มีจุดมุ่งหมายในการรักษาคนป่วยให้หายเจ็บ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวอีสานมาตั้งแต่โบราณ โดยเชื่อว่าการแสดงนี้จะสามารถติดต่อกับเทวดาซึ่งเรียกว่าแถนหรือผีฟ้าให้ลงมารักษาคนป่วยได้เพราะชาวบ้านเชื่อว่าการเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เกิดจากการกระทำของผี เครื่องดนตรีที่ใช้ในการแสดงชุดนี้คือ แคน เพราะเชื่อว่าเสียงแคนสามรถติดต่อกับเทวดาได้ โดยจะใช้การบรรเลงลายใหญ่ประกอบกับการฟ้อนรำ

2. ศิลปการแสดงและดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้
กลุ่มอีสานใต้นี้จะมีการสืบทอดวัฒนธรรมจาก 2 กลุ่มด้วยกันกล่าวคือ กลุ่มที่หนึ่ง กลุ่มวัฒนธรรมไทย-เขมร ไทย-ส่วย และไทย-ลาว ได้แก่ ประกรส่วนใหญ่ในจังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และศรีษะเกษ กลุ่มนี้จะสืบทอดวัฒนธรรม ไทย-เขมรทั้งภาษาและศิลปการแสดง และกลุ่มวัฒนธรรมไทย-โคราช ได้แก่ประชากรส่วนใหญ่ใน จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะสืบทอดวัฒนธรรม ภาษาและศิลปการแสดงแบบไทย - โคราชซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตน
2.1 เครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานใต้ซึ่งจะแบ่งตามลักษณะของเครื่องดนตรีอีสานเหนือและมาตรฐานนิยมทั่วไปได้ 4 ประเภทอันประกอบไปด้วยเครื่องดีด- พิณกระแสร์เดียว คือ พิณสายเดียวกะโหลกทำด้วยลูกน้ำเต้า - พิณจะเปย เป็นพิณ 2 สาย 3 สาย หรือ 4 สาย- อังกุ๊ยจ์ ทำด้วยไม้ไผ่เวลาดีดต้องสอดไว้ในปาก เหมือนกับ หุน ของชาวอีสานเหนือ
เครื่องสี- ซอกันตรึม หรือเรียกว่า ตรัว ทำด้วยไม้ไผ่กลองเสียงทำด้วยหนังงูเหลือมมีช่องเสียงรูอยู่ตรงข้าม หน้าซอรัดด้วยเชือก- ซออู้หรือ ตรัวอู้ เป็นเครื่องสายใช้สี กล่องเสียงหรือกะโหลกซอจะทำด้วยกะลามะพร้าวหุ้มด้วยหนังคันซอทำด้วยไม้ไผ่สายทำด้วยลวด คันชักทำด้วยไม้ขึงเอ็นเครื่องตี- ระนาดเอก สันนิษฐานว่าได้รับอิทพลจากของภาคกลาง- ซอวง ทำด้วยโลหะหล่อขนาดต่างๆกันจำนวน 16 ลูก ที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือฆ้องวงใหญ่- ฆ้องราง ทำด้วยโลหะหล่อขนาดต่างๆ กัน จำนวน 9 ลูก ผูกด้วยเชือกหนังแขวนว้กับราง- ฆ้องหุ่ย เป็นฆ้องใบเดียวขนาดใหญ่ ทำด้วยโลหะมีปุ่มตรงกลาง- กลองกันตรึม ทำด้วยไม้ขนุน ขึงหนังหน้าเดียวตึงด้วยเชือก 1 ชุดมี 2 ลูก คือตัวผู้กับตัวเมีย- กลองตุ้มตึ เป็นกลอง 2 หน้าขนาดใหญ่- กลองลำมะนา - กลองตะโพน- ฉิ่ง- ฉาบเครื่องเป่า- ปี่อ้อ ทำด้วยไม้อ้อหรือไม้ไผ่ มีรูบังคับ 7รู- ปี่เญ็นหรือปี่เตรียงหรือปี่ปุ๊ก เป็นปี่ลิ้นเดียว ทำด้วยโลหะ- ปี่อังโกง- ปี่ไฉน เป็นปี่ลิ้นคู่ ลิ้นทำด้วยใบตาลสวมต่อกับเลาที่ทำด้วยไม้ไผ่- เขาควาย เป็นปี่ที่ทำด้วยเขาควาย เป็นเครื่องเป่าประเภทลิ้นเดียว กล่องเสียงทำจากเขาควาย- แคน
2.2 ลักษณะการผสมวงของเครื่องดนตรีอีสานใต้ สามารถแยกประเภทของวงออกดังนี้- วงตุ้มโมง เป็นวงพื้นบ้านที่เล่นในเขต จังหวัดสุรินทร์ มักจะนิยมเล่นในงานศพ สำหรับส่วนประกอบของเครื่องดนตรีในวงตุ้มโมงจะประกอบไปด้วย ฆ้องหุ่น 1 ใบ กลองเพลขนาดใหญ่ 1 ใบ ปี่ไฉน หรือปี่อ้อ 1 เลา ฆ้องวง 1 วง ฆ้องราง 1 วง - วงกันตรึม เป็นวงพื้นบ้านที่นิยมเล่นในงานมงคล ซึ่งส่วนประกอบของเครื่องดนตรีในวงกันตรึมประกอบไปด้วย กลองกันตรึม 2 ใบ ปี่อ้อ 2 เลา ปี่สไน 1 เลา ซอ 1 คัน ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่ ฉาบ 1 คู่- วงมโหรี เป็นลักษณะนามของวงมโหรีอีสานใต้ จะเป็นวงดนตรีที่ได้รับอิทธิพลจากดนตรีไทยภาคกลาง และเครื่องดนตรีพื้นบ้านมาผสมกัน บางท้องถิ่นเรียก วงเครื่องแปด หรือพิณพาทย์ โดยมีเครื่องดนตรีประกอบดังนี้ ระนาดเอก ฆ้องวงใหญ่ กลองทัด กลองสองหน้า หรือ ตะโพน ซอด้วง ซออู้ พิณ สไน กลองกันตรึม ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง
2.3 ศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานใต้สำหรับศิลปะการแสดงของกลุ่มคนอีสานมีมากมาย โดยจะเลือกยกตัวอย่างพอให้มองเห็นภาพกว้างได้ดังนี้ 1. เรือมอันเร เรือมอันเร แปลว่า รำสาก เป็นการละเล่นที่ถือว่าเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของชาวอีสานใต้ การละเล่นเรือมอันเร เป็นการเล่นในวันหยุด งานประจำปีของชาวสุรินทร์ ในอดีตจะถือเอาวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวสุรินทร์ เรียกว่าวันตอม ลักษณะการแสดงเรือมอันเร จะเป็นการฟ้อนคู่ระหว่างหนุ่มสาว( ลักษณะคล้ายลาวกระทบไม้) เครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลง ได้แก่ ปี่ 1 เลา กลองโทน 1 ใบ ฉิ่ง 1 คู่ และสาก 1 คู่ ส่วนเพลงที่ใช้บรรเลงจะไม่จำกัด สำคัญที่ว่าการเคาะสากให้เป็นจังหวะกับจังหวะฟ้อนรำ การละเล่นเรือมอันเร ก่อนการแสดงต้องมีการบรรเลงของวงดนตรีกันตรึมก่อนเพื่อเป็นไหว้ครู อาจารย์ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ผู้แสดง2. ระบำรำกรับ ส่วนมากใช้ผู้ชายแสดง การแสดงชุดนี้จะใช้มือตีกรับทั้งสองออกร่ายรำขับร้องประกอบจังหวะ กระทบกันของกรับ ภาษาท้องถิ่นเรียกว่า จั๊กตาลอก3. เรือมมม็วต (รำแม่มด ) เป็นประเพณีการเล่นในพิธีกรรมอย่างหนึ่ง ของชาวสุรินทร์ใช้สำหรับบำบัดการเจ็บไข้ได้ป่วยให้ทุเลาเบาบางเพื่อหายจากโรคภัยไข้เจ็บคล้ายกับการลำผีฟ้าของทางอีสานเหนือ ซึ่งเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการบรรเลงจะมี กลองกันตรึม ตะโพน 1 ใบ ซออู้ขนาดกลาง 1 คัน ปี่อ้อ 1 เลา ปี่ชไน 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ แคน 1 ตัว4. เรือมอาไย เป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวอีสานใต้ที่ได้รับอิทธิมาจากเขมร ลักษณะจะเป็นการร้องรำโต้ตอบด้วยกลอนลำเกี้ยวพาราสี ระหว่างหนุ่มสาว ในเทศกาลต่างๆ เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง มี กลองกันตรึม 1-2 ใบ ปี่สไน 1 เลา ซออู้หรือซอด้วง 1-2 คัน กรับ 1-2 คู่ ฉิ่ง 1 คู่ ขลุ่ย 1 เลา5. เรือมกโนปติงต็อง เป็นการละเล่นเลียนแบบท่าธรรมชาติของตั๊กแตนตำข้าวประกอบเพลงเพื่อความสนุกสนาน เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงมี โทน 2 ใบ ซออู้ขนาดกลาง 1 คัน ปี่ชลัย 1 เลา ฉิ่ง 1 คู่ กรับ 1 คู่6. ลิเกเขมร เป็นการละเล่นพื้นบ้านที่มีการแสดงเหมือนลิเกทั่วไป โดยจะมีโรงแสดง ตัวแสดง การแต่งกายตามลักษณะและบทบาทของตัวละครในเรื่อง เช่น เป็นฤาษี ยักษ์ ลิง และแบบแผนที่นิยมกันในการแสดงมักจะทำเป็นโขน 3 หัวแต่ปิดหน้าไว้มีบทร้องประกอบและบทเจรจา ส่วนเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบมี ซออู้ขนาดกลาง ปี่ใน กลองรำมะนา 2 ใบ และมีเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ กรับ
2.4 การแสดงกลุ่มวัฒนธรรมไทย โคราช การแสดงของคนกลุ่มโคราชจะแยกย่อยแตกต่างจากวัฒนธรรมอีสานใต้ทั่วไป ซึ่งการที่ค่อนข้างจะเด่นของกลุ่มวัฒนธรรมนี้ คือเพลงโคราช อันเป็นศิลปะการละเล่นพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวจังหวัดนครราชสีมามีลักษณะเป็นเพลงประเภทเพลงปฏิพาทย์โดยมีการร้องโต้ตอบกันระหว่างฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ฝ่ายละ 2-3คน ผู้ร้องเพลงโคราชเรียกว่า หมอเพลง มีผู้ร้องนำแต่ละฝ่าย เป็น พ่อเพลง แม่เพลง ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นหมอเพลงโคราชนั้นจะต้องเป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบชั้นเชิงในโวหารศิลปิน เชิงศิลปะของการลำนำในบทประพันธ์ที่เป็นกาพย์ กลอน โดยมีลักษณะเด่น ของการสัมผัสใน สัมผัสสระ สัมผัสพยัญชนะ และอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นคนช่างสังเกต โดยใช้ถ้อยคำธรรมดาง่ายๆ สัมผัสกัน และพยายามจดจำสะสมการผูกประโยคและสร้างคำขึ้นไว้และนำมาประดิษฐ์ให้ยืดยาวขยายออกไปภาษาที่ใช้ร้องนิยมใช้ภาษาถิ่นโคราชบ้างคำภาษาไทยกลางบ้างโดยคงสำเนียงโคราชดั้งเดิมไว้โดยเนื้อหาของเพลงโคราชนั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องทางศาสนา ความเชื่อ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วรรณกรรมและประวัติศาสตร์ของเรื่องราวต่างๆ ซึ่งการแสดงเพลงโคราชนั้น มีลักษณะพิเศษกว่าการแสดงอื่นๆ ตรงที่เพลงโคราชไม่ต้องใช้เครื่องดนตรีบรรเลงประกอบจะใช้เฉพาะการตบมือเท่านั้นทั้งนี้สำหรับการฝึกหัดที่จะเป็นพ่อเพลงแม่เพลงนั้น ก่อนฝึกหัดผู้เรียนจะต้องไหว้ครูโดยมีบายศรี หมากพลู บุหรี่ ธูปเทียน ดอกไม้ ผ้าขาวและเงิน 25 บาท เสร็จแล้วผู้เรียนจะต้องจดเพลงไปท่องให้ได้ แล้วไปร้องให้ครูฟังซึ่งผู้ที่จะเป็นหมอเพลงได้ต้องได้รับการฝึกหัดจากครูจนชำนาญ จะต้องท่องจำบทเพลงได้ประมาณ 400 บท และจะต้องใช้เวลาฝึกหัดอยู่ประมาณ 2 ปีเป็นอย่างน้อย จึงจะสามารถออกแสดงได้นอกจากนี้จากการที่ชาวอีสานได้ยึดมั่นและเชื่อเทิดทูนพระคุณของครูบาอาจารย์ ดังนั้นในการที่จะเรียนรู้ทั้งการ ทำเครื่องดนตรีหรือการแสดงต่างๆนั้น จึงจำเป็นต้องมีการไหว้ครูตามธรรมเนียมปฏิบัติ เช่น กรณีของการทำแคนนั้น ผู้ที่จะเข้าไปขอให้ครูแคนสอนนั้น ต้องไปฝากตัวเป็นศิษย์และขอยกครู โดยจะมีการเลือกวันที่เชื่อว่าเป็นศิริมงคล การยกครูหรือคาย(พิสฎฐ์ บุญไชย.2541: 14)จะมีดังนี้- ผ้าชิ้น 1 ผืน- ผ้าแพรขนาด 1 วา 1 ผืน- เหล้า 1 ก้อง(ขวด)- ไข่ 1 ฟอง- เงิน ถ้าจะเรียนแคนจะเป็นเงิน 6 บาท ค่าแคนเล็กจะ 4 บาท- ขันธ์ 5 - เครื่องประดับสตรี คือ ขจรเงิน(ตุ้มหู) ก้องแขนเงิน(กำไลเงิน) แหวนเงิน - เครื่องแต่งตัวสตรี คือ ต้องผม(เส้นผมสตรีที่ตัดเป็นจุกมัดรวมกัน)- กระจกเงา- หวี- เครื่องใช้ในการทำแคน คือ สิ่ว เหล็กซี
ซึ่งการยกครูนั้น จะต้องทำพิธีเพื่อยกครูโดยผู้เรียนที่ขอสมัครเป็นศิษย์ จะกล่าวคำยอยกครูให้มีความหมายเทิดทูล เมื่อครูรับเครื่องยกครูแล้วจะถือว่ารับเป็นศิษย์ ซึ่งคุณสมบัติที่เหมาะสมทั้งนี้มีความเชื่อว่าหากปีใดที่ว่างเว้นจากการทำแคน จำเป็นต้องไหว้ครูเพื่อให้ระลึกถึงครูและจะทำให้ไม่ลืมวิชาการทำแคน ซึ่งเครื่องไหว้ครูในช่วงนี้จะประกอบด้วย ขันธ์ 5 ดอกไม้ 1 คู เทียน 4 เล่ม โดยจะทำพิธีไหว้ในวันอังคาร โดยจะกล่าวคำบูชาและระลึกถึงครู นอกจากนี้สำหรับคนที่ฝึกทำแคนใหม่ก่อนลงมือทำต้องมีการไหว้เครื่องมือทุกครั้ง และในส่วนของคะลำหรือข้อห้ามนั้น เชื่อว่า ห้ามมิให้ผู้ชายเดินข้าม นั่งทับเครื่องมือทำแคนทุกชนิด แต่สำหรับผู้หญิงไม่ห้าม เพราะทั้งนี้ถือตามตำนานว่าผู้หญิงคือครูทำแคนคนแรก ซึ่งเชื่อว่าเป็นแม่หม้ายดังที่กล่าวข้างต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องดนตรีและศิลปะการแสดงกับความเชื่อและอุดมการณ์ของคนอีสาน
สำหรับมิติทางประวัติศาสตร์แนวดิ่งตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี และกรุงเทพฯตอนต้นลงมา(ประมาณ พ.ศ.2302-2432)นั้น จะเห็นว่าความสัมพันธ์ของหัวเมืองภาคอีสานกับรัฐส่วนกลางที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานั้นค่อนข้างมีอยู่อย่างเบาบาง ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะมาในรูปแบบการเสียส่วยสาอากร ภาษี การเกณฑ์แรงงานและกำลังพลเท่านั้น ความแตกต่าง-แปลกแยกกับศูนย์กลางของรัฐยังปรากฏเห็นชัดเจน เนื่องจากความแตกต่างทางสภาพของสังคมวัฒนธรรม การเมืองการปกครองซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงหรือเหมือนกับดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมากกว่า ดังนั้นความสำนึกในเชื้อชาติต่อรัฐศูนย์กลางจึงค่อนข้างดูเบาบาง ความเป็น "เขา-เรา" จึงมีมากกว่า ดังนั้นในช่วงหลังตั้งแต่ต้นกรุง รัตนโกสินทร์เป็นลำดับมา โดยเฉพาะหลังกรณี "เจ้าอนุวงศ์" (พ.ศ. 2369-2371) และได้ส่งผลถึงค่านิยมหรือวาทกรรมบางส่วนในปัจจุบันจึงปรากฏความคิดของผู้ปกครองส่วนกลางต่อคนภูมิภาคนี้ในลักษณะเหนือกว่า ดูหมิ่น โดยมองคนอีสานเป็นกลุ่มคนที่ด้อยกว่า เหมือนดังพลเมืองชั้นสอง มีความแตกต่างแปลกแยกจากคนแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคนละกลุ่ม
ดังนั้นจึงปรากฏนโบายต่างๆที่ทางส่วนกลางนำมาปฏิบัติต่อภูมิภาคดังกล่าวและส่งผลถึงปฏิกิริยาที่คนภาคอีสานแสดงออกต่อรัฐและรัฐกระทำต่อภูมิภาคนี้ในช่วงเวลาต่างๆทั้งนี้การปกครองหัวเมืองภาคอีสานก่อนพ.ศ. 2433นั้น ได้ถือตามฮีตคองโบราณสืบต่อกันมาแต่หลวงพระบาง และเวียงจันทน์ แม้ว่ารัฐศูนย์กลางในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีอำนาจแพร่เข้าปกครองยังอนุโลมให้ใช้ประเพณีดังกล่าวอยู่ โดยตำแหน่งการปกครองเรียกว่า"คณะอาญาสี่"ประกอบไปด้วย เจ้าเมือง อุปฮาด ราชวงศ์ และราชบุตร ครั้นในปี พ.ศ. 2433 ด้วยทั้งปัจจัยภายนอกและภายใน ไม่ว่าภัยจากลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตก โดยเฉพาะฝรั่งเศสที่ได้เข้ามายึดครองดินแดนใกล้เคียงแถบลุ่มน้ำโขงรวมทั้งบางส่วนของสยามตั้งแต่พ.ศ. 2431-2446 และเพื่อความมั่นคงในการดึงอำนาจมาส่วนกลางเพื่อควบคุมหัวเมืองที่อยู่ห่างไกลทั้งนี้จากเหตุผลทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ จึงได้มีการเข้ามาเกี่ยวข้องกับหัวเมืองอีสานมากขึ้น โดยจะเห็นนโยบายของทางรัฐศูนย์กลางที่เข้ามาในช่วงเวลานั้น
การดำเนินการของรัฐส่วนกลางต่อภูมิภาคนี้ เริ่มปรากฏชัดเจนและต่อเนื่องในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยจะนำมาลำดับให้เห็นถึงนโยบายที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2433 โดยได้เริ่มมีการรวมหัวเมืองอีสานเข้าด้วยกันแล้วจัดออกเป็น 4 กองใหญ่โดยทรงส่งข้าหลวงใหญ่ไปกำกับดูแล จนกระทั่งได้เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมดให้แก่ฝรั่งเศสในปี พ.ศ.2436 ประชาชนฝั่งขวาจึงถูกเรียกจากกรุงเทพฯว่า"ชาติลาวบังคับสยาม" (สีลา วีระวงส์.2535:หน้า 169) ดังนั้นชาวลาวสองฝั่งโขงจึงถูกแยกออกจากกันเป็นคนละประเทศตามเงื่อนไขทางการเมืองนับตั้งแต่นั้น ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2442 ทรงได้มีการยกเลิกประเพณีการปกครองแบบเจ้าประเทศราช ถวายดอกไม้เงิน ดอกไม้ทอง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการปกครองที่ล้าสมัยหากคงไว้จะเป็นภัยแก่บ้านเมือง และให้เปลี่ยนชื่อมณฑลใหม่โดยตัดคำว่า 'ลาว' ออก ทั้งนี้เพราะจะหมายถึงคนต่างชาติ ทำให้ไม่มีความเป็นเอกภาพ เนื่องเพราะบัดนี้กลุ่มต่างๆเป็นคนไทยเหมือนกัน มีพระมหากษัตริย์องค์เดียวกัน มีอาณาเขตแน่นอนอันเดียวกัน มีความเป็น 'ชาติ' เดียวกัน
จะเห็นความพยายามของรัฐที่จะเข้ามาควบคุมดูแลหัวเมืองอีสาน เพื่อดึงอำนาจมายังส่วนกลางนั้น ซึ่งได้มีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมปรับปรุงนโยบายอยู่ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่พ.ศ. 2433-2476 ตามปัจจัยบริบทแวดล้อม ซึ่งนั้นเป็นการแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญแก่หัวเมือง/ภาคอีสานอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นนโยบายในแบบที่เรียกว่ารัฐชาติ(Nation State) โดยได้มีการดำเนินการในหลายรูปแบบ เพื่อสร้างมโนภาพของ "ชาติ" และสร้าง "รัฐ"ขึ้นมาบริหารจัดการ ในที่นี้จะไม่ขอกล่าวรายละเอียดเพราะปรากฏมีผู้ศึกษาไว้จำนวนมาก, ซึ่งรูปแบบที่ทางรัฐนำเข้ามาทั้งนโยบายการเมืองการปกครอง เพื่อครอบงำทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรมดังกล่าวข้างต้น ตั้งแต่การเก็บภาษี คือการเสียหัวคนละ 4 บาท(ปี พ.ศ. 2475 ลดเหลือ 2 บาทและมายกเลิกในปี พ.ศ. 2482 โดยมาเก็บภาษีบำรุงท้องที่แทน) ภายหลังยังมีการเก็บเงินศึกษาพลี คนละ 2 บาท(ยกเลิกปี พ.ศ. 2473) ถ้าบุคคลใดไม่มีจ่ายต้องถูกลงโทษมาทำงานโยธาแทน รวมทั้งเกณฑ์แรงงานที่มีรูปแบบไม่แน่นอน เช่น การเกณฑ์ไปขุดบึงพลาญชัย การเกณฑ์ไปสร้างถนนเชื่อมเมืองต่างๆทั้งใกล้และไกล(สุวิทย์ ธีรศาศวัต และคณะ.2528:244-251)โดยต้องเตรียมเสบียงไปเอง, และการเผยแพร่ควบคุมในรูปแบบต่างๆ เช่น นำพุทธศาสนาแบบธรรมยุตินิกายเข้ามาโดยสร้างวัดสุปัฏนารามที่อุบลราชธานีเมื่อปี พ.ศ. 2396 และทะยอยสร้างวัดธรรมยุตินิกายเพิ่มขึ้นภายหลังเช่น วัดศรีทอง วัดสุทัศนาราม วัดไชยมงคล( เติม สิงห์ษฐิต.2499 : 139-140.)เป็นต้น
ผลจากนโยบายต่างๆข้างต้นนั้น ได้เกิดปฏิกิริยาจากคนในภาคอีสานมาตลอดทั้งทางตรงและอ้อม ตั้งแต่การเคลื่อนไหวที่เรียกว่า ผู้มีบุญ(พ.ศ. 2444-2445)หรือผีบุญดังที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงสรรพสิทธิ์ประสงค์ทรงใช้เรียกปรากฏการณ์ทางสังคมที่แพร่ขยายไปทั้งหัวเมืองอีสานดังกล่าว และถูกปราบจากทางรัฐอย่างรวดเร็วเนื่องจากความสะดวกที่ได้รับจากรถไฟสายแรก ซึ่งการลงโทษมีทั้งการทำทัณฑ์บน จำคุกและประหารชีวิต
แม้กระนั้นภายหลังจากนั้นยังปรากฏขบวนการต่อต้าน ขัดขืนอำนาจรัฐในรูปแบบดังกล่าวมากมาย ซึ่งพัฒนาการของการต่อต้านนั้นมีมาตามลำดับตั้งแต่อดีตทั้งที่ได้ถูกบันทึกและไม่ได้บันทึก ซึ่งสามารถเรียกรวมๆว่ากบฏชาวนา เช่น กบฏบุญกว้าง(พ.ศ.2242) กบฏเชียงแก้ว(พ.ศ.2334) กบฏสาเกียดโง้ง(พ.ศ.2358-2362) กบฏผู้มีบุญ(พ.ศ.2444-2445) กบฏหนองหมากแก้ว(พ.ศ.2467) กบฏหมอลำน้อยชาดา(พ.ศ.2479) กบฏโสภา พลตรี(พ.ศ. 2486) กบฏสามโบก หรือกบฏศิลา วงษ์สิน(พ.ศ. 2502) เป็นต้น ที่สืบเนื่องกันมาต่างกรรมต่างวาระจุดมั่งหมายแตกต่างกันทั้งจากปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง โดยมีวิธีการที่คล้ายคลึงกันคือผู้นำจะอ้างตัวว่ามีอำนาจเหนือธรรมชาติ มีเวทมนตร์คาถา และการยกความเชื่อทางศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้อง การอ้างว่าจะเกิดกลียุค โดยเฉพาะการถวิลหาโลกอุดมคติในแผ่นดินพระศรีอาริย์ ในส่วนของภาคอีสาน-คนลาวนั้นปรากฏในวรรณกรรมหลายเล่ม เช่น เทศน์คาถามาลัยหมื่นมาลัยแสน กาพย์สอนปู่ กาพย์วิฑูรบันฑิต คำกลอนสอนโลก และพญาอินทร์โปรดโลก เป็นต้น มีการเล่าเผยแพร่ในเทศกาลบุญประเพณีต่างๆ รวมทั้งนำมาแต่งเป็นกลอนผ่านสื่อ กลอนลำ ผญาภาษิต ดังนั้นจึงปรากฏว่า สื่อที่ทำงานได้ผลในการปลุกระดมคนคือ หมอลำ
นอกจากนี้ยังเน้นอุดมการณ์ทางชาติพันธุ์โดยเฉพาะช่วงหลังตั้งแต่กบฏผู้มีบุญ(พ.ศ.2444-2445) โดยกลับมารื้อฟื้นศูนย์กลางเวียงจันทน์ที่เชื่อว่าจะรุ่งเรืองอีกครั้งในอนาคต ไม่ต้องมาเป็นข้าไทยอีกต่อไป เป็นการแสดงถึงการต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ อำนาจเท่าที่สามารถกระทำได้ในเงื่อนไขเวลานั้น ด้วยการผลิตวาทกรรมของตนขึ้นมาเพื่อหาพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ของตนเอง แต่ปัจจัยสำคัญคือความศรัทธาในความเชื่อต่อผู้มีบุญ อำนาจวิเศษ และความยากจน ส่วนประเด็นการเมืองนั้นมีปรากฏบ้างในบางกลุ่ม เช่น กรณีที่เมืองขุขันธุ์ และเมืองเขมราฐ เป็นต้น
มิเช่นนั้นคงไม่เชื่อถือกันเป็นเรื่องจริงจังถึงกับแห่กันไปเก็บกรวดเก็บหินที่เสลภูมิ(บริเวณด้านเหนือวัดป่าหัวโล่(คุ้มเมืองเก่า)ตั้งอยู่ทิศตะวันตกวัดมิ่งเมืองฯริมบึงโดน -ผู้เรียบเรียง)กันมากแต่ละวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า300-400 คน มาเก็บไว้เพราะอยากได้เงินได้ทอง และบางคนต้องอพยพออกไปประกอบอาชีพที่อื่น เช่น รับจ้างทำบ่อพลอยที่พระตะบอง หรือรับจ้างทำนาแถบภาคกลางที่เรียกว่ามณฑลชั้นในเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน ได้แก่มณฑลกรุงเทพฯ มณฑลกรุงเก่า มณฑลนครชัยศรี มณฑลปราจีนบุรี ซึ่งต้องจ้างแรงงานอีสานไปบุกเบิกจนกลายเป็นทุ่งนาเช่นทุกวันนี้ ซึ่งบางครั้งต้องประสบกับการถูกเอาเปรียบจากนายจ้างจนลูกจ้างชาวอีสานไม่ไปทำนาให้และปล่อยให้เป็นนาร้าง ซึ่งส่งผลแก่กิจการของประเทศ จนกระทั่งต้องทรงมีประกาศยกเว้นลูกจ้างอีสานที่ไปรับจ้างทำนาในภาคกลางไม่ต้องเข้ารับราชการตามพ.ร.บ.ลักษณะเกณฑ์ทหาร รศ.124(พ.ศ.2448) วิกฤตการณ์ดังกล่าวจึงคลี่คลายลงบ้าง(อภิศักดิ์ โสมอินทร์.2533: 8.) หรือไปเป็นตำรวจภูธรในกรุงเทพฯเพื่อให้ได้เป็นตัวเงิน ประกอบกับโจรผู้ร้ายชุกชุม มีคดีปล้นฆ่ามาก อย่างกรณีเมืองขุขันธุ์ตามรายงาน 1 ปีนั้น ได้มีคดีการปล้น 30 ตำบล ฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย 26 คน เป็นต้น
ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย แม้เรื่องของภาคอีสานจะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาในส่วนกลางมากขึ้น โดยผ่านทางรัฐสภาของสมาชิกผู้แทนราษฎรในช่วงนั้นมากขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงในด้านรูปธรรมของภาคอีสานยังต่ำอยู่ และไม่ใคร่แตกต่างจากอดีตนัก กล่าวคือเป็นเพียงภูมิภาคที่สนับสนุนการเติบโตของรัฐ เช่น เป็นพื้นที่ปลูกผลิตผลทางการเกษตรที่ตลาดและประเทศต้องการ และเป็นเพียงวาทกรรมที่ฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐมักจะนำมาหยิบอ้างเป็นเครื่องมืออยู่เสมอ โดยเฉพาะภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง(พ.ศ.2488) ผลกระทบจากกระแสความแตกต่างทางลัทธิการเมืองที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นนั้นได้สร้างความวิตกกังวลแก่ผู้บริหารประเทศในแต่ละช่วงเวลามาโดยตลอดโดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา ถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศอย่างยิ่งนั้นคือลัทธิคอมมิวนิสต์รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองด้วย ซึ่งได้แผ่ขยายทะลักเข้าสู่ประเทศข้างเคียงอย่างน่าตระหนก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นเขมรซึ่งทางรัฐบาลพนมเปญได้ประกาศยอมแพ้ และเขมรแดงได้เข้ายึดอำนาจแทนในวันที่ 17 เมษายน 2518ส่วนเวียตนามนั้น ที่เมืองไซง่อน อันเป็นศูนย์กลางสำคัญของเวียตนามใต้ได้ถูกตีแตกในวันที่ 30 เมษายน 2518 สงครามครั้งนี้อเมริกาต้องถอนกำลังออกจากพื้นที่ด้วยความปราชัยส่วนประเทศลาวนั้นมีทีท่าว่าจะถูกกลืนตามไปด้วยในไม่ช้า และเมื่อประเทศดังกล่าวนั้นได้เปลี่ยนแปลงการปกครองไปเป็นระบอบสังคมนิยม ทำให้ระบบโครงสร้างการปกครองและสังคมเก่าๆได้ถูกรื้อถอนหมดสิ้น เมื่อสถานการณ์ของการเมืองในภูมิภาคเป็นดังที่กล่าวจึงสร้างความวิตกกังวลและความพรั่นพรึงแก่ประเทศใกล้เคียงอย่างประเทศไทยอย่างมาก
ดังนั้นกระแสภัยคอมมูนิสต์ที่เข้มข้นมาโดยตลอดตั้งแต่วันแห่งปืนแตกในปีพ.ศ. 2508 เป็นต้นมา สงครามประชาชนได้เริ่มแพร่ขยายวงกว้างมาตามลำดับ จนกระทั่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กอปรกับสถานการณ์รอบข้างของประเทศเพื่อนบ้านทำให้กระแสความกลัวภัยคอมมูนิสต์จึงยิ่งโหมกระพือมากยิ่งขึ้น รัฐบาลได้นำมาตรการต่างๆออกมาใช้ในประเทศ และทวีความรุนแรงเข้มข้นหนักหน่วงมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเกิดความรุนแรงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519
ความแตกต่างของลัทธิการเมืองทำให้ภาคอีสานได้เพิ่มความสำคัญมากขึ้น เริ่มตั้งแต่ในช่วงของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์(พ.ศ. 2501 - 2506) ภาคอีสานได้เป็นภูมิภาคสำคัญในการผลิตวาทกรรมการพัฒนาขึ้นมา นโยบาย แผนงาน หน่วยงานต่างๆเข้าสู่ภาคอีสานจำนวนมาก แต่กระนั้นภาคอีสานยังเป็นภูมิภาคที่หมิ่นแหม่ต่อภัยของความแตกต่างทางลัทธิการเมือง หลายจังหวัดถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดง/สีชมพู และใช้กำลังในการตัดสินปัญหา เช่น กรณีทหารบุกเผาทำลายบ้านนาทราย อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคายยกหมู่บ้าน มีผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมจำนวนหนึ่งเมื่อปลายเดือนมกราคม 2517 โดยกล่าวหาว่าราษฎรเป็นคอมมิวนิสต์(ชาญวิทย์ เกษตรศิริ.2542 :212-213.) เป็นต้น จนกระทั่งถึงขั้นแตกหักดังปรากฏบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ไทย คือกรณี '6 ตุลา', และภายหลังรัฐบาลต่อมาได้ประกาศใช้นโยบายการเมืองนำการใช้กำลังทหาร ทั้งนี้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ให้เสร็จสิ้นอย่างรวดเร็ว โดยเปลี่ยนจากแนวทางในการต่อสู้ด้วยอาวุธมาเป็นการสู้ในแนวทางสันติ ดังปรากฏในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 และ 65/2525 (เฉลิมเกียรติ ผิวนวล.2535:ภาคผนวก)เป็นต้น ที่รัฐทะยอยนำออกมาใช้ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ของบ้านเมืองและภูมิภาค
ซึ่งจากที่กล่าวโดยสังเขปข้างต้นนั้นจะเห็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ได้คลี่คลายและตกทอดปรากฏร่องรอยบางส่วนในปัจจุบัน ถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่ภาคอีสานหรือที่มักเรียกว่า "คนลาว"กับศูนย์กลางอำนาจ ซึ่งการเล่าเรื่องราวของคนอีสานโดยเฉพาะคนในอดีตนั้นมักจะเท้าความประวัติศาสตร์ตนเองผ่านศิลปะการแสดงต่าง ๆ เช่น หมอลำ เสียงพิณ เสียงแคน ส่วนหนึ่งเพื่อระบายถ่ายทอดและปลอบประโลมตนเอง นอกจากนี้ในอดีตนั้นการนำการละเล่นศิลปะการแสดง โดยเฉพาะหมอลำเป็นสื่อในการถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองเพื่อที่จะต่อต้านอำนาจภายนอกหรืออำนาจที่เข้ามาบังคับและกดดัน ดังที่ปรากฏคือ กบฎผู้มีบุญในปี พ.ศ. 2444-2445
รวมทั้งปรากฏการณ์ผู้มีบุญต่าง ๆ ในภายหลัง เช่น กรณีหมอลำน้อยชาดา ในปีพ.ศ. 2479 ซึ่งเจ้าตัวคือผู้ดำเนินการเป็นหมอลำ และใช้ความสามารถด้านนี้เผยแพร่แนวความคิดอุดมการณ์ของตนเอง นอกจากนี้ในกรณีผู้มีบุญที่หนองหมากแก้ว จังหวัดเลย เมื่อพ.ศ. 2467 ซึ่งได้ใช้กลอนลำเป็นเครื่องถ่ายทอดเพื่อปลุกเร้เาจิตสำนึกด้านเชื้อชาติของชาวบ้าน ที่มีความหมายให้ระลึกถึงความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีตของอาณาจักรล้านช้าง ความเจ็บปวดในคราวการเผาเวียงจันท์เมื่อเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ และสร้างความหวังว่าต่อไปนี้ชาวบ้านคนอีสาน (คนลาว) จะไม่ต้องเดือดร้อนลำบากเพราะคนไทยอีกแล้วขอให้อดทน โดยทำนายว่าต่อไปเมืองเวียงจันท์จะรุ่งเรืองเหมือนเดิม ชาวบ้านจะสมบูรณ์พูนสุขและเป็นอิสระจากไทย อันเป็นความใฝ่ฝันเชิงอุดมการณ์เพื่อปลอบประโลมความเป็นจริงในขณะนั้น ซึ่งกลอนคำที่ปรากฏมีความว่า(ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ.2524: 269-270.)
" เดือนสามคล้อยคอยฟังมั่งอี่หม่วนเดือนสี่คล้อยปลายแคนน้อยก่ายกันไหลหลั่งเข้าเวียงแก้งฮุ่งเฮืองให้คืนมาสร้างเมืองทองให้ฮุ่งเมืองทองฮุ่งแล้วเมืองแก้วฮุ่งนำออยเอาซ้างเอาม้าให้กินหญ้าสามใบกับยอดเกิ่งเดิ่งหามองไทยเอยเข่า(ข้าว)ใส่แล้วไผอี่ซ้อมซ่วยตำต่อไปนี้ให้ละวางเชือกไถอีไลเชือกอ้องวางไว้คันนาเห็นว่าเวียงจันท์ฮ้างเซาฮามอย่างเฝ้าว่ามันอี่โป๊มักแตงซ้างหน่วยปลายเดี๋ยวนี้กำลังเป็นผักหมเตี้ยกลางทางอย่าฟ้าวย่ำมันอี่ถอดยอดขึ้นยังอี่ได้ก่ายเกิน"
หากแต่ในมุมมองหรือโลกทัศน์ของผู้ปกครองเมื่อครั้งอดีตกลับมีความคิดที่ต่างออกไป ทั้งนี้หากมองผ่านเครื่องดนตรีและการแสดงละเล่นของคนอีสานนั้น เคยมีกรณีเหตุการณ์เมื่อครั้งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ซึ่งหากจะพิจารณาแล้วอำนาจการปกครองในช่วงเวลานั้นเมืองสยามมีพระมหากษัตรย์อยู่สองพระองค์คือนอกจากรัชกาลที่ 4 แล้ว ยังมีพระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่สาม และพระองค์ทรงมีความโปรดปรานเครื่องดนตรีลาว-อีสานอย่างมาก โดยเฉพาะแคน และแอ่วลาว(กลอนลำ) ซึ่งพระองค์ยังสามารถที่จะทรงแคนได้อย่างไพเราะและสามารถพระราชนิพนธ์บทแอ่วลาว คือ"บทอ่านนิทานนายคำสอน"ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังปรากฏว่า เมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จเมืองนครราชสีมาในปีพ.ศ.2399 นั้นถึงกับทรงสร้างตำหนักประทับที่บ้านสีทา แขวงเมืองสระบุรี ซึ่งเป็นถิ่นที่มีคนลาวอาศัยอยู่จำนวนมาก ซึ่งพระองค์มักจะเสด็จมาประทับที่บ้านสีทาเสมอ
นอกจากนี้ยังทรงมีพระมเหสีที่เป็นชาวลาวจากนครราชสีมาหลายองค์ด้วย(ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ.2527) ซึ่งการที่พระองค์ทรงโปรด "ความเป็นลาว" มากขนาดนั้น จนถึงมีการเล่นกันในวังหน้าและเป็นที่นิยมโดยทั่วไปของคนไทยภาคกลางด้วย จนเป็นเหตุให้ความนิยมในวงปี่พาทย์มโหรีลดลง กระทั่งบรรดานายวงผู้เล่นหลายคนต้องประกาศขายเครื่องดนตรีดังกล่าว ด้วยเหตุนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกประกาศห้ามเล่นแคนและแอ่วลาว เนื่องจาก "..ไม่สู้ควรที่การเล่นอย่างลาวจะมาเป็นพื้นเมืองไทย ลาวแคนเป็นข้าของไทย ไทยไม่เคยเป็นข้าลาวจะเอาอย่างลาวมาเป็นพื้นเมืองไทยไม่สมควร..."(ประชุมประกาศรัชกาลที่4 พ.ศ. 2405-2408.2511:290) ทั้งนี้เนื่องจากเชื่อว่าว่าเครื่องดนตรีของลาวดังกล่าวนั้น เวลาไปเล่นที่ไหนมักจะเป็นเหตุให้ฝนฟ้าไม่ตก ทำให้พืชพันธุ์ข้าวกล้าเสียหายให้ผลผลิตน้อยไม่งอกงาม จึงประกาศงดการเล่นแคน "...ลองดูสักปีหนึ่งสองปี..."
จะเห็นว่าจากที่กล่าวข้างต้นนั้น การนำเครื่องดนตรีมาเป็นสื่อและเป็นสัญลักษณ์เพื่อประโยชน์บางอย่างของผู้ที่ใช้มีอยู่ตั้งแต่อดีตตลอดมาจนถึงปัจจุบัน หากแต่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทและเวลาที่เปลี่ยนไป อย่างกรณีนักเล่นการเมืองบางคนอาจจะใช้ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้านเป็นสื่อกลางในการเข้าถึงชาวบ้านโดยเฉพาะคนสูงอายุหรือคนตามชนบท เพื่อให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นเชื้อแนวเดียวกัน ให้เกิดสำนึกในความเป็น "ซุม" หรือพวกเดียวกัน และอาศัยประโยชน์จากความสัมพันธ์ดังกล่าวนั้นเข้าสู่ตนเอง เป็นต้น

ที่มา:http://www.aorsocho.org/modules.php?name=activeshow_mod&file=print&asid=38

  • Digg
  • Del.icio.us
  • StumbleUpon
  • Reddit
  • Twitter
  • RSS

0 Response to "ดนตรีและศิลปะการแสดงภาคอีสาน"

แสดงความคิดเห็น

GuestBook